หน้าเว็บ

18/4/55

การเพาะเลี้ยงปูทะเล

ปูทะเลเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทยชนิดหนึ่ง รสชาติดี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ผลผลิตปูส่วนใหญ่จะได้มาจากการจับจากธรรมชาติ ปูทะเลมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น เช่น ปูทะเล ปูดำ ปูขาว เป็นต้น
 ปูทะเลที่พบในประเทศไทยจัดอยู่ในชนิด Scyllaserrata (Forskal) พบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำกร่อย ป่าชายเลน และปากแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง โดยขุดรูอยู่ตามรากไม้เนินดิน พบมากบริเวณอ่าวไทยและอันดามัน โดยเฉพาะที่ชุกชุมที่เป็นบริเวณหาดโคลนหรือเลนที่มีป่าแสมและโกงกาง ตั้งแต่อ่าวไทยตะวันออกบริเวณอ่าวไทยตอนใน อ่าวไทยฝั่งตะวันตก และฝั่งอันดามัน

ปูทะเล เป็นสัตว์น้ำกร่อยที่มีการอพยพย้ายถิ่นเพื่อการผสมพันธุ์ โดยปูเพศเมียจะอพยพจากแหล่งหากินบริเวณแหล่งน้ำกร่อยออกไปวางไข่ในทะเล การอพยพของปูเพศเมียจะเกิดขึ้นหลังจากการได้รับการผสมพันธุ์แล้ว ขณะเดินทางออกสู่ทะเลปูบางตัวอาจปล่อยไข่ออกมาไว้ที่ท้องแล้วก็ได้เมื่อลูกปูเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่งจะเริ่มแพร่กระจายเข้ามาหากินบริเวณน้ำกร่อย ปูทะเลเรียกตามลักษณะต่างๆ ได้ดังนี้
  1. ปูโพรก  หมายถึง ปูที่ผ่านการลอกคราบและกระดองเริ่มแข็ง เนื้ออ่อน เนื้อไม่แน่น หรือปูตัวเมียที่ยังไม่มีไข่หรือมีไข่น้อย มีรสชาติไม่อร่อย
  2. ปูแน่น หมายถึง ปูที่ผ่านการลอกคราบนานแล้วและเมื่อได้รับอาหารเข้าไปทำให้มีน้ำหนักสูงขึ้น เพิ่มน้ำหนักพร้อมที่จะลอกคราบเพื่อเพิ่มขนาดในครั้งต่อไป เนื้อแน่น มีน้ำหนักตัวมาก มีรสชาติอร่อย
  3. ปูไข่ หมายถึง ปูเพศเมียที่สร้างไข่ไว้ในกระดอง ไข่มีลักษณะแน่นเต็มกระดอง
  4. ปูขุน หมายถึง การเลี้ยงปูโพรกให้เป็นปูแน่น และการเลี้ยงตัวเมียให้มีไข่เต็มกระดองหรือปูไข่
อาหารและการกินอาหาร
ปูทะเลเป็นสัตว์ออกหากินในเวลากลางคืนหลังจากพระอาทิตย์ตกแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง และเข้าที่หลบซ่อนก่อนพระอาทิตย์จะขึ้นเพียงเล็กน้อย ดังนั้นแสงและอาหารจึงมีอิทธิพลต่อการปรากฎตัว สำหรับอาหารที่ตรวจพบในกระเพาะอาหารของปู ได้แก่ หอยฝาเดียว หอยสองฝา กุ้ง ปู ปลา และเศษพืช ซึ่งปูจะชอบกินปูด้วยกันเองมากที่สุด โดยปกติแล้วปูทะเลจะไม่กินอาหารที่เคลื่อนที่หรือสามารถหลบหลีกได้ดี แต่ถ้าเลียงปูทะเลในบ่อดินปูจะออกจากที่หลบซ่อนเมื่อได้รับน้ำใหม่
การเลือกแหล่งอาหารของปูแต่ละวัยนั้น ปูแต่ละวัยจะหากินในบริเวณที่แตกต่างกันไป เช่น ปูวัยอ่อนจะหากินบริเวณที่เป็นป่าชายเลนและอาศัยอยู่บริเวณนี้หลังจากที่น้ำทะเลได้ลดลงแล้ว ปูวันรุ่นจะหากินตามการขึ้นลงของน้ำโดยจะเข้ามาหากินในป่าชายเลนพร้อมกับการขึ้นของน้ำและกลับลงทะเลพร้อมกับการลงของน้ำ ส่วนปูเต็มวัยจะมีการกระจายเข้ามาหากินพร้อมกับระดับของน้ำที่สูงขึ้นเช่นกันแต่ส่วนใหญ่จะตระเวนอยู่ในระดับลึกกว่าแนวน้ำลงต่ำสุด

การเจริญเติบโต
ปูเจริญเติบโตโดยอาศัยการลอกคราบ เนื่องจากกระดองของปูมีสารประกอบพวกหินปูนที่มีความแข็งแรง จึงไม่สามารถขยายยึดตัวออกไปได้เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ คือเมื่อมีเนื้อเต็มกระดองจะมีการลอกคราบเพื่อขยายขนาด และร้างกระดองใหม่เข้ามาแทนที่ ระยะเวลาการลอกคราบจะเพิ่มขึ้นตามอายุของปู
เมื่อปูลอกคราบใหม่ๆ กระดองจะนิ่ม เรียกว่า "ปูนิ่ม" ซึ่งต่อมาจะค่อยตึงและแข็งตัว ในระยะที่เป็นปูนิ่มจะป็นระยะที่อันตรายที่สุดซึ่งเคลื่อนไหวแทบจะไม่ได้ฉะนั้นจึงต้องหาที่หลบซ่อนตัวให้พ้นจากศัตรู

ฤดูกาลผสมพันธุ์วางไข่
ช่วงเดือนกันยายน - ธันวาคม จะพบแม่ปูมีไข่ แต่ในเดือนกันยายน-ตุลาคม จะพบว่างไข่ของแม่ปูมีสีแดงส้มมากที่สุด เมื่อไข่แก่จะมีสีน้ำตาลเกือบดำถูกปล่อยออกมาบริเวณนอกกระดองบริเวณจับปิ้ง มีจำนวนประมาณ 1.8 - 1.9 ล้านฟอง

การเลี้ยงปูทะเล ที่นิยมมีอยู่ 2 วิธี  ได้แก่
  1. เลี้ยงโดยวิธีขุน หมายถึง การนำปูทะเลที่ขนาดตั้งแต่ 1-4 ตัว/กิโลกรัม ขณะที่ยังเป็นปูโพรก และปูเพศเมียที่ยังมีไข่อ่อนมาขุน เป็นระยะประมาณ 20-30 วัน มีขันตอนดังนี้
  • การเลือกทำเล 1.อยู่ใกล้แหล่งน้ำกร่อย  2.เป็นบริเวณที่ได้รับการขี้นลงของน้ำทะเล  3.มีระบบสาธารณูปโภคและการคมนาคมสะดวก  4.สภาพดินเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทราย  5.เป็นแหล่งที่สามารถจัดหาลูกพันธุ์ปูได้ง่าย  6.เป็นบริเวณที่ปลอดภัยจากโจรขโมย
  • การสร้างบ่อ  1.มีพื้นที่ประมาณ 200-600 ตารางเมตร  2.ขุดร่องรอบบ่อลึกประมาณ 1.5-1.8 เมตร กว้างประมาณ 1 เมตร  3.มีประตูน้ำประตูเดียวเป็นทางระบายน้ำเข้า-ออก  4.ใช้อวนมุ้งเขียวกั้นคันบ่อโดยรอบสูงประมาณ 0.5 เมตร  5.ใช้ตะแกรงไม้ไผ่กั้นตรงประตูน้ำห่างกันซี่ละไม่เกิน 1 เซนติเมตร
  • การเตรียมบ่อและการจัดการบ่อ  1.กำจัดวัชพืชรอบบ่อ ลอกเลนก้นบ่อ โรยปูนขาว 60 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อฆ่าเชื้อโรค  2.เก็บน้ำในบ่อประมาณ 1 เมตร  3.เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันที่สามารถกระทำได้(3/4 ของน้ำทั้งหมด)
  • การรวบรวมพันธุ์ รวบรวมโดยการรับซื้อจากชาวประมง ให้พิจารณาว่าปูมีระยางค์ครบสมบูรณ์ การสังเกตว่าปูแข็งแรงหรือไม่ดูได้จาก กรรเชียงของปู ถ้าเราใช้นิ้วเขี่ยกรรเชียงของปูแล้วมีการขยับกลับเร็วแสดงว่าปูแข็งแรง ดวงตาของปู ถ้าตาปูมีการขยับขึ้นลงได้เร็วขณะที่เราใช้นิ้วเขี่ยที่ลูกตาแสดงว่าแข็งแรง
  • การปล่อยและการจัดการด้านอาหาร นิยมปล่อยที่ความหนาแน่น 2-3 ตัว/ตารางเมตร ก่อนปล่อยใช้น้ำในบ่อรดตัวปูเพื่อปรับสภาพ ระหว่างการเลี้ยงให้เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน ให้อาหารสดวันละครั้งในตอนเย็นโดยสาดให้ทั่วบ่อ อาหารที่นิยมใช้มี 2 ชนิด คือ ปลาเป็ด และหอยกะพง
  • การเก็บเกี่ยวผลผลิต การจับปูจะทำในช่วงน้ำขึ้น-น้ำลง มีวิธีดังนี้
                 1. การตักปูเล่นน้ำ
                 2. การจับน้ำแห้งหรือคราดปู
                 3. การเกี่ยวปูในรู
ผลผลิตที่ได้จากการขุนปูทะเลจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลเอาใจใส่ทั้งในเรื่องการคัดเลือกปู คุณภาพน้ำ การให้อาหาร และสภาพบ่อ เป็นต้น โดยทั่วไปจะให้ผลผลิตประมาณ 80-95%

2. การเลี้ยงโดยวิธีการอนุบาลลูกปู หมายถึง การนำลูกปูที่มีขนาดเล็กที่มีน้ำหนักยังน้อย ขนาดประมาณ 6-10 ตัว/กิโลกรัม มาเลี้ยงในระยะตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปจนได้ปูใหญ่
  • ปัญหาอุปสรรคในการเลี้ยงปูทะเล
                 1. ขาดแคลนพันธุ์ปูในบางฤดูกาล
                 2. การลักขโมย
                 3. ถูกกำหนดราคาซื้อ-ขายโดยแพ
                 4. ศัตรู ทั้งในกรณีทำร้ายหรือกินกันเอง และพยาธิ