หน้าเว็บ

28/4/55

เตรียมพร้อมรับมือ "ประชาคมอาเซียน" ASEAN Economic Community

         เป็นเรื่องที่ท้าทายกับผู้ประกอบการด้านประมงที่จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมาถึงในปี 2558

         ก่อนอื่นพูดถึงประวัติความเป็นมาของกลุ่มอาเซียนซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2510 จนถึงปัจจุบันประกอบด้วย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว พม่า เวียดนาม และไทย รวม 10 ประเทศ ผลของการพัฒนาได้มีการขยายขอบเขตความร่วมมือของประชาคมอาเซียนอย่างกว้างขวางทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง รวมถึงสังคมและวัฒนธรรม สำหรับด้านเศรษฐกิจ อาเซียนมีการรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือ AEC  ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการค้าที่พัฒนามาจากเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อันเป็นผลมาจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 9 ณ ประเทศอินโดนีเซีย ที่มีจุดมุ่งหมายให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน จะส่งผลให้เส้นแบ่งทางการค้าหรือกำแพงภาษีหมดไป การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตหรือทรัพยากรต่างๆ เป็นไปอย่างเสรีภายใต้ระบบเดียวกัน โดยมีสินค้าและบริการนำร่องทั้งหมด 12 สาขา ซึ่งครอบคลุมถึงการค้าสินค้าประมงด้วย

         เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2555 กรมประมงจึงกำหนดจัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ "ประชาคมอาเซียนกับการประมงไทย" โดยมีวัถุประสงค์เพื่อเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และเตรียมพร้อมภาคเอกชนเพื่อรับมือกับโอกาสที่ท้าทายก่อนการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน
          ดร.วิมล  จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ภาคประมงมีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอาเซียน เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศรวมทั้งไทยด้วยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงรายใหญ่ของโลก และเพื่อให้อาเซียนได้เป็นฐานเดียวกันซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าประมงในตลาดโลก รวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงเป็นการสร้างอำนาจในการต่อรองทางการค้าให้อาเซียนได้มีโอกาสต่อสู้กับตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น
          สำหรับกรมประมงในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ดูและภาคการประมงของประเทศ มีบทบาทสำคัญยิ่งในการดำเนินการเพื่อให้การผลิตสินค้าประมงเป็นไปตามมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ลดมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิค รวมถึงการส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกับประเทศสมาชิก อาทิ การพัฒนาและนำระบบการจัดการคุณภาพสินค้าประมง การพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารเคมีและสารตกค้างสำหรับสินค้าเกษตร การจัดทำมาตรฐานการเพาะเลี้ยงกุ้งอาเซียน การจัดทำคู่มือการใช้สารเคมีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และกำหนดมาตรการเพื่อลดการใช้สารเคมีอันตราย

         นอกจากการดำเนินการตามพันธกรณ๊ดังกล่าวเพื่อเป้าหมายที่มุ่งสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 แล้ว กรมประมงยังเล็งเห็นความสำคัญของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ซึ่งจะต้องมีความรู้และตระหนักถึงเป้าหมายจึงได้จัดสัมมนาเรื่อง "ประชาคมอาเซียนกับการประมงไทย"  ขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องโดยมุ่งเน้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประมง พร้อมเปิดเวทีให้ภาคเอกชนได้ร่วมถ่ายทอดความคิดเห็นถึงผลกระทบและโอกาสที่จะเกิดจากการเป็นประชาคมอาเซียน ผ่านการอภิปรายในหัวข้อ "ประชาคมอาเซียนกับธุรกิจประมงไทย" โดยนายกสมาคมแช่เยือกแข็ง (ดร.ผณิศวร  ชำนาญเวช) ที่ปรึกษากิติมศักดิ์สมาคมประมงแห่งประเทศไทย (คุณวิชาญ  ศิริชัยเอกวัฒน์)  ผู้แทนสมาคมกุงไทย และผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) กรุงจาร์กาตา อินโดนีเซีย พร้อมผู้เชียวชาญด้านเศรษฐกิจการประมงของกรมประมง
            จากนี้อีก 3 ปี ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะต้องเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่เงื่อนไขของ  AEC อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหากมีการเปิดเสรีทางการค้า มีการนำเข้าทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเสรีมากขึ้น รัฐและเอกชนต้องร่วแรงร่วมใจในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ ซึ่งเป็นโอกาสและความท้าทายของภาคการประมงไทยที่จะต้องขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมาถึงในไม่ช้านี้ อธิบดีกล่าวตอนท้าย

ขอบคุณ ฝ่ายประชาสัมพัธ์กรมประมง